มหาวิทยาลัยพะเยาเดินหน้าเต็มตัวส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมภูมิภาคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคเอกชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (UPITI) พร้อมด้วยคุณกานต์พิชชา ปัญญา ได้รับมอบหมายจาก รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยพะเยาเข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน ซึ่งท่านได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยที่ดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคให้ดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. และมีนโยบายเกี่ยวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ 5 ด้านคือ 1.ให้ขยายเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (การขยายโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มมหาวิทยาลัยเครือข่าย การขยายพื้นที่การให้บริการ) 2.ผลักดันให้เกิดโครงการนวัตกรรมด้านสังคม 3.การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ 10 ภูมิภาคของประเทศ 4.ส่งเสริมให้อุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ 5.มุ่งสร้างมาตรฐาน (เช่นมาตรฐานผลิตภัณฑ์) แก่ผู้รับบริการ
ทั้งนี้มหาวิทยาพะเยา เป็น 1 ใน 7 มหาวิทยาลัยของภาคเหนือ ที่ได้ดำเนินโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 โดยได้ให้บริการแก่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมมากกว่า 700 รายและมีโครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 100 โครงการ ภายใต้รูปแบบการให้บริการหลัก 4 platforms ได้แก่ 1. Industrial service platform คือการให้บริการด้านคำปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาทางเทคนิค การออกแบบผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคอุตสาหกรรม 2. Industrial Research and Technology Capacity Development: IRTC and Co-Research platform คือการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของภาคเอกชนโดยสนับสนุนทุนวิจัยให้ภาคเอกชนและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน 3. Technology Business Incubator platform คือการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีหรืองานวิจัยของมหาวิทยาลัย 4. Infrastructure platform คือการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่ผู้ประกอบการเช่นพื้นที่ co-working space ห้องบ่มเพาะธุรกิจ ครุภัณฑ์การวิจัยในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคเอกชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในพื้นที่ภาคเหนือตามนโยบายของรัฐบาล
ภาพ: นายศรัณย์ เหมะ เจ้าหน้าที่ออกแบบนวัตกรรม ข้อมูล/ข่าว: อภิรักษ์ นิลวัฒน์
เพิ่มข่าวโดย: นายศรัณย์ เหมะ เจ้าหน้าที่ออกแบบนวัตกรรม วันที่/เวลา : 2019-09-13 10:17:21