มหาวิทยาลัยพะเยาร่วมประชุมรับมอบนโยบายจาก รมว.อว. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ และนำเสนอผลผลิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างสรรค์ของ Startup พันธุ์ใหม่ในกิจกรรม NSP Flash Pitching Show



วันที่ 30 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น. รศ.ดร.ฐิติรัตน์ เชี่ยวสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.ประกอบสิริ ภักดีพินิจ คณบดีคณะวิทยาการและสารสนเทศศาสตร์ นพ.สรวิศ บุญญฐี ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (UPITI) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานอุทยานวิทยาศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ UPITI เข้าร่วมประชุมเพื่อรับมอบนโยบายจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. ในโอกาสที่เดินทางมาพบคณะผู้บริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 50 ท่าน รวม 14 สถาบัน (ม.เชียงใหม่, มทร.ล้านนา, ม.นเรศวร, ม.แม่โจ้, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.พะเยา, มรภ.เชียงราย, มรภ.เชียงใหม่, มรภ.พิบูลสงคราม, มรภ.อุตรดิตถ์, มรภ.กำแพงเพชร, มรภ.นครสวรรค์, มรภ.ลำปาง, มรภ.เพชรบูรณ์) ณ NSP Conference Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ อววน. มุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นแนวทางจัดการศึกษาตลอดจนให้บริการและส่งเสริมงานวิจัยต่าง ๆ ให้สอดรับกับการพัฒนายกระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศชาติต่อไป

จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และคณะ ให้เกียรติชมการนำเสนอนวัตกรรมสู่ภูมิภาค ผลผลิตนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ในกิจกรรม NSP Flash Pitching Show โดยนำเสนอผลงานความสำเร็จของผู้ประกอบการและเหล่า Startup พันธุ์ใหม่ ที่สร้างชื่อและช่วยยกระดับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) University Startup ที่เติบโตจากนักศึกษา 2) Startup ที่ใช้เทคโนโลยีในการช่วยพัฒนาระบบการศึกษา 3) ผู้ประกอบการและ Startup ที่ได้รับการเร่งศักยภาพ ยกระดับผ่านงานวิจัยหรือใช้บริการแพลตฟอร์มและโครงการต่าง ๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และ 4) Startup ผู้ประกอบการนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคม

ในงานนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้นำ University Tech Startup และ Local Startup ที่ใช้บริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้แก่บริษัทภาษาดีดอทคอม แอพพลิเคชั่นฝึกออกเสียงสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการออกเสียง ไอซีเอ็มอิเลคโทรนิกส์ ผู้คิดค้นและผลิตอุปกรณ์ Smart farm สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเกษตร และห้างหุ้นส่วนจำกัด ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาส้มของดีเมืองพะเยา เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนำเสนอผลงานต่อท่านรัฐมนตรีด้วย

ภาพ: นายศรัณย์ เหมะ เจ้าหน้าที่ออกแบบนวัตกรรม ข้อมูล/ข่าว: อภิรักษ์ นิลวัฒน์

เพิ่มข่าวโดย: นายศรัณย์ เหมะ เจ้าหน้าที่ออกแบบนวัตกรรม วันที่/เวลา : 2019-09-13 10:23:01