องค์ความรู้จากผลงานวิจัย สู่ การต่อยอดเชิงพาณิชย์ “เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสาหร่ายสไปรูลินาไฟโคไซยานินสูง”



     ในวันอังคาร ที่16 กุมภาพันธ์ 2564 สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยาได้จัดพิธีลงนามสัญญาและมอบเทคโนโลยีองค์ความรู้จากผลงานวิจัย “เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสาหร่ายสไปรูลินาไฟโคไซยานินสูง” ร่วมกับ บริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่ โฮลดิ้ง จำกัด ณ ห้อง UB001 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธฺมปญฺโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา

     รศ.ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมลงนามสัญญาถ่ายเทคโนโลยีองค์ความรู้จากผลงานวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา กับ บริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่โฮลดิ้ง จำกัด โดยคุณรัฐวิชญ์ สิริอมรสิทธิ์ ประธานบริหารบริษัท โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา และผศ.ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์ผล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ อีกทั้งทางบริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่ โฮลดิ้ง จำกัด ยังได้แนะนำคู่ความร่วมมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และส่งมอบงาน Exclusive Ingredient ให้แก่คู่ร่วมมือ ได้แก่ บริษัท พาว มิราเคิล จำกัด รับมอบโดย คุณอธิชาติ ชุมนานนท์ และ คุณนพวริทธิ์ โกมลวุฒิสิทธิ์ Co-Founder และ บริษัท แฮ็ปปี้ เฮลท์ตี้ ทูยู จำกัด

 

     รศ.ดร. สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา ได้กล่าวถึงการจัดพิธีลงนามสัญญาในครั้งนี้ว่า งานวิจัยมิได้เป็นงานที่ทำเพื่อการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเรามุ่งมั่นเป็นอย่างมากว่างานวิจัยต้องมุ่งประโยชน์ต่อชุมชน และนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ได้ ส่วนนี้คือเป็นหลักหัวใจสำคัญอย่างมาก เพราะฉะนั้นทิศทางกับการวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยา อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือแม้แต่บุคลากร นิสิต นักศึกษา เมื่อได้ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ ปลายทางที่ชัดเจนคือการสร้างผลงานวิจัยมุ่งสู่ชุมชนตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา

 

     ผศ.ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์ผล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงมุมมองและทิศทางต่อการลงนามสัญญาและมอบเทคโนโลยีองค์ความรู้จากผลงานวิจัย : อย่างที่เราทราบกันดีว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยพะเยามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือว่าจะเป็นด้านของมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ สำหรับวันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำผลงานวิจัยที่มาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จนนำไปสู่การร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กับบริษัทเอกชน ซึ่งถือได้ว่าบริษัทเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้าขายต่าง ๆ การส่งออก อันนี้คือเราเรียกว่าเป็น REAL SECTOR ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง ในขณะที่มหาวิทยาลัยของเราเป็นภาควิชาการ และการที่จะส่งต่อผลงานจากภาควิชาการให้ไปสู่ผลงานของภาคเอกชนเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นกิจกรรมในวันนี้ก็เปรียบเสมือนกับการเป็นต้นแบบให้แก่นักวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการสร้างช่องทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศจากงานวิจัยของเรา นั่นก็คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์อาจจะเป็นในลักษณะของกิจกรรมในวันนี้ หรืออาจจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาจัดจำหน่ายก็ได้

 

     คุณรัฐวิชญ์ สิริอมรสิทธิ์ ประธานบริหาร บริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่โฮลดิ้ง จำกัด ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจสาหร่ายสไปรูลินา : SUPERFOOD คือคีย์เวิร์ดหลักที่ทำให้เราสนใจ ทั้งในเชิงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คุณค่า และโอกาสทางการตลาดที่ค่อนข้างชัดเจน และที่สำคัญเรายังได้มีส่วนร่วมของชุมชน เราคาดหวังว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางการตลาดและการผลิต คาดหวังถึงการนำ SUPERFOOD เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร งานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสาหร่ายสไปรูลินาไฟโคไซยานินสูง จึงตอบโจทย์ SUPERFOOD ที่ทางเราได้ให้ความสนใจ และความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งการลงนามในครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เราหวังว่าทางมหาวิทยาลัยพะเยา บุคลากรคณะต่าง ๆ ส่งชุดข้อมูลของงานวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านได้ให้ความไว้วางใจกับทางบริษัท ที่จะส่งมอบไปให้ลูกค้ารายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพาว มิราเคิล หรือบริษัทคู่ค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับอาเซียน หรืออยู่ในระดับประเทศ ได้นำผลิตภัณฑ์ที่เป็นของทางมหาวิทยาลัยพะเยา ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เราหวังว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน

 

     สำหรับองค์ความรู้จากผลงานวิจัย“เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสาหร่ายสไปรูลินาไฟโคไซยานินสูง” โดย ผศ.ดร.รัฐภูมิ พรหมณะ คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม นักวิจัยผู้สร้างองค์ความรู้ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลินาที่มีปริมาณไฟโคไซยานินสูง จนถึงการพัฒนาร่วมกันกับบริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่ โฮลดิ้ง จำกัด ในครั้งนี้ว่า .สาหร่ายสไปรูลินาเป็นที่รู้จักของผู้คนมามากกว่า 30 ปี แต่ด้วยจุดอ่อนของสาหร่ายสไปรูลินาที่มีกลิ่นคาว ผู้คนเลยไม่ค่อยบริโภค ทั้งที่จริงแล้วเค้าคือ SUPERFOOD ที่มีสารสำคัญร่วมที่ดีต่อสุขภาพหลากหลายด้าน แม้กระทั้งการเพาะเลี้ยงเก็บเกี่ยวชีวมวลของสาหร่ายสไปรูลินาไม่ให้มีกลิ่นคาวอันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เราพยายามพัฒนาวิธีเพาะเลี้ยง วิธีการเก็บเกี่ยว จนถึงกระบวนการต่างๆที่เข้าไปสู่บรรจุภัณฑ์ โดยสารสำคัญของสาหร่ายสไปรูลินานั้น มีสาร Phycocyanin ที่มีคุณสมบัติในการช่วยเรื่องของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคอ้วน ลดความเสี่ยงภูมิแพ้ ช่วยคุมระดับไขมันในเลือด และควบคุมความดันโลหิตสูง อีกทั้งเรามีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรท้องถิ่นให้มีการเพาะเลี้ยงตามสูตร เพื่อให้มั่นใจว่าสาหร่ายที่ผลิตออกมาจะมีคุณสมบัติ และค่าสารออกฤทธิ์ที่ดี เพื่อให้มีวัตถุดิบรองรับบริษัท ฯ ที่ทำสัญญาความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการสร้างอาชีพในท้องถิ่นอีกด้วย

 

     คุณอั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์ บริษัท พาว มิราเคิล จำกัด คู่ร่วมมือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้กล่าวว่า สำหรับงานรับมอบผลิตภัณฑ์ในวันนี้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจและความดีใจมากๆ เพราะว่ากว่าที่นักวิจัยจะเริ่มวิจัยกันมานานไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแน่นอน แล้วก็งานวิจัยนี้เริ่มจากมหาวิทยาลัยพะเยาก็ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นฟู้ดวัลเลย์ และทางโรงงานซีเอ็มเอช เชียงใหม่ โฮลดิ้ง ก็ถือว่าเป็นโรงงานที่ตั้งใจที่จะนำงานวิจัยของนักวิจัยไทยเราเพื่อยกระดับสู่สากล เพราะฉะนั้นทางบริษัท พาว มิราเคิล ถือว่ามีโอกาสที่ดีมากๆ ที่ได้รับการส่งต่อมาถึง 2 ทอด กับมหาวิทยาลัยที่มีความตั้งใจ ได้มาตรฐาน และทางโรงงานที่ได้ศึกษาแล้วก็ยึดในเรื่องของงานวิจัย ผมในฐานะบริษัทพาว มิราเคิล เป็นบริษัทที่เราสื่อสารต่อผู้บริโภค เราก็มีความตั้งใจว่า ความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้นสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของสรรพคุณต่าง ๆ ผมเชื่อว่าทุกผลิตภัณฑ์ก็จะมีสรรพคุณที่ดี และในตลาดของอาหารเสริมโดยทั่วไป แต่ว่าจะดีอย่างไร ดีขนาดไหนเราก็ต้องถูกยอมรับด้วยสากล ก็คือการทดสอบแล้วทดสอบอีก เมื่อทดสอบแล้วก็แปลว่าเราก็จะได้มาตรฐานของสรรพคุณที่เด่นชัด สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของความปลอดภัย และสิ่งหนึ่งที่เป็นความตั้งใจของบริษัทคือเรามองว่าพืชพรรณของไทย อาหารของไทย เกษตกรไทย เราเป็นประเทศที่มีโอกาสมากกว่าอื่นๆ สำหรับวันนี้เป็นวันที่เราสามารถเข้ามาเชื่อมต่ออย่างตรงกัน เราเข้าใจผู้บริโภค ความต้องการในเรื่องของการตลาด ซึ่งความต้องการเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไว แต่ในครั้งนี้เราหยิบความต้องการมาคุยกับนักวิจัย นักวิจัยก็จะสามารถทำงานวิจัยได้ออกมาอย่างตรงเป้าหมาย นักวิจัยก็เกิดกำลังใจในการสร้างเป้าหมาย ส่งต่อถึงการขายที่มีการถ่ายทอดสู่ตลาดจริง และยังส่งผลถึงเกษตรกรต่างๆที่สามารถมีพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในการเข้ามาสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และการดูแลครอบครัวให้แก่พวกเขาได้อย่างดียิ่งขึ้นไป

ภาพ: สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ข้อมูล/ข่าว: อภิรักษ์ นิลวัฒน์

เพิ่มข่าวโดย: นางสาวกรองกาญจน์ กันไชยคำ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วันที่/เวลา : 2021-02-18 10:03:43