อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.พะเยา ร่วมให้การต้อนรับ “ศุภมาส” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เชื่อมโยงนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล



     เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 66 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อม น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ รมว.กระทรวง อว. โดยมี ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้บริหาร มช. และ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศให้การต้อนรับ โดยมีการนำเสนอนิทรรศการผลงานความสำเร็จภายใต้การดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมเจ้าหน้าที่ นำผลงาน Blue Spira นวัตกรรมสาหร่ายสไปรุลินาเพื่อลดน้ำตาลและไขมันในเลือด Pow Zukar Q โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยากับบริษัท ซีเอ็มเอช เชียงใหม่โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท พาวมิราเคิล จำกัด พัฒนาต่อเนื่องด้วยการร่วมทุนวิจัยและพัฒนา Blue Spira ในโครงการวิจัยในมนุษย์ด้วยการบริโภคและตรวจเลือดอาสาสมัครจำนวนมาก ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการจรรยาบรรณจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยทุนโครงการ IDE (ผศ.ดร.รัฐภูมิ พรหมณะ : หัวหน้าโครงการ) และ ทุนโครงการวิจัย IRTC (ดร.วิทวัส สัจจาพงศ์ : หัวหน้าโครงการ) จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ส่งผลให้เกิดการยกระดับการแข่งขันทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ ด้วยผลของการวิจัยในมนุษย์ครั้งแรกของไทยที่ยืนยันผลการลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของอาสาสมัครจากการรับประทาน Blue Spira เป็นประจำทุกวันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ติดต่อกัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับและมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     จากนั้น น.ส.ศุภมาส ให้นโยบายว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ช่วยส่งเสริมการกระจายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับประชาชน ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ถือเป็นการกระจายโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. สู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมและสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่ภูมิภาคอย่างมหาศาล เกิดการจ้างงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม เกิดการพัฒนาของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เติมเต็มอยู่อย่างต่อเนื่อง

     “ที่สำคัญ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีจุดเด่นในการการเชื่อมโยงอัตลักษณ์พื้นถิ่นซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลได้อย่างดี และมีการส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Corridor) ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและการค้าของประเทศ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่บนฐานนวัตกรรม” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า

     กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและพร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้อุทยานวิทยาศาสตร์มีบทบาทนำในการจัดทำแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยในทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกบริการที่สำคัญในภูมิภาคอาเชียนและระดับโลกด้วยการ “ใช้นวัตกรรมนำประเทศ” อย่างเป็นรูปธรรม

ภาพ: สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ข้อมูล/ข่าว: อภิรักษ์ นิลวัฒน์

เพิ่มข่าวโดย: นายศรัณย์ เหมะ วันที่/เวลา : 2023-12-13 11:49:46