ภารกิจของหน่วยงาน

การบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Incubation Platform)
        การบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubation) เป็นกิจกรรมสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบใหม่ที่ผ่านกระบวนการที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นในหลายประเทศจึงเลือกที่ใช้กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจในการฟูมฟักและสร้างผู้ประกอบการใหม่
        กระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจสามารถประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย ตั้งแต่สร้างความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ (Mobilization) การสรรหาและคัดเลือกผู้ประกอบที่มีศักยภาพเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะจนสามารถจัดตั้ง ธุรกิจจัดตั้งใหม่ (Start-ups) ให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ (Graduate/Spin-off) ซึ่งในระหว่างดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนก็จะมีกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละกิจการ นอกจากนั้นในกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจยังมีกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญในการเพิ่มขนาด (Upscale) ของกิจการ หรือเร่งการเจริญเติบโตของผู้เข้ารับการบ่มเพาะ (Acceleration) โดยกิจกรรมนี้เน้นการสร้างพัฒนาการแบบก้าวกระโดดให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมโดยงานพัฒนาธุรกิจของอุทยานวิทยาศาสตร์ จะเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่สอดคล้องกับ Value Chain ของธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งคาดหวังว่าผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะธุรกิจจะเห็นความสำคัญในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นลูกค้าที่สำคัญในการใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้เช่า (Tenants) ของอุทยานวิทยาศาสตร์ในอนาคตได้เป็นอย่างดี

การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน (Co-Research Platform)
        การวิจัยร่วมกับภาคเอกชน มุ่งเน้นงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยพะเยาและมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในการวิจัยนั้นทั้งในด้านการร่วมทุนและการดำเนินงานวิจัย โดยคาดหวังว่าผลการวิจัยนั้นนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว ยังต้องสามารถส่งเสริมศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนด้วย ทั้งการตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาต่อธุรกิจ การพัฒนาหน่วยงานวิจัยและบุคลากรทางด้านวิจัยของภาคเอกชน
        นอกจากนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคฯ โครงการวิจัยร่วมระหว่างภาคเอกชนและอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยาจะให้ความสำคัญต่องานวิจัยในธุรกิจที่เป็น Flagship และกลุ่มเป้าหมายของเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้แก่ การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของข้าว พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรพื้นเมืองเหนือ อุตสาหกรรม IT Software และ Digital content อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และวัสดุด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดความเข้มแข็งและสร้างความต่อเนื่องทางด้านวิจัยและพัฒนาให้แก่อุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคฯ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนที่จะเข้าใช้บริการต่างๆของอุทยานฯในอนาคต
 
การพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ (Service Platform)
        การพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ดำเนินการโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้มีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนความเชี่ยวชาญชำนาญที่มีอยู่แล้วในระดับหนึ่งให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนากกลางและขนากย่อม โดยแบ่งภารกิจหลักออกเป็น 2 ด้าน คือการให้บริการ และการพัฒนาศักยภาพอุทยานวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรม ดังนี้
  1. การให้บริการด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคอุตสาหกรรม (IP for Industry) โดยเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญา
  2. การให้บริการออกแบบนวัตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ออกแบบนวัตกรรมหรือศูนย์ออกแบบนวัตกรรม (Innovation Design Center)
  3. การให้บริการและช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรโดยสำนักงานความร่วมมืออุตสาหกรรม (Office of Industrial Liaison)
  4. การพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม (Strengthen service laboratory)
  5. ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
        โดยในระยะแรกนั้นจะมุ่งเน้นการให้บริการแก่อุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ของอุตสาหกรรมข้าว อันเป็น Flagship ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ตั้งแต่ต้นน้ำคือการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การเร่งกระบวนการปลูกและการเจริญเติบโตของข้าว การมีเทคโนโลยีและกระบวนการเก็บเกี่ยวข้าวที่มีประสิทธิภาพ กลางน้ำคือการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ การเพิ่มคุณค่าของข้าว รวมถึงปลายน้ำคือการต่อยอดเทคโนโลยีด้านข้าวให้กลายเป็นนวัตกรรมข้าวที่มีมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับสากล
 
การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC)
        การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ มุ่งเน้นการให้การบริการอย่างครบวงจรแก่ผู้ประกอบการและเอกชน เพื่อทำหน้าที่ขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้าไปทำให้เกิดนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจับคู่นวัตกรรมในรูปแบบของการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการฝึกอบรม การเสาะหาเทคโนโลยีจากแหล่งต่างๆเพื่อให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดการค้าสากลได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดจนการเข้าถึงการให้บริการทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่
  1. อุตสาหกรรมในโซ่คุณค่าของ พืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรเมืองเหนือ และข้าว (ครอบคลุมตั้งแต่เกษตรต้นน้ำด้านพันธุ์พืช ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแปรรูปอาหาร)
  2. อุตสาหกรรม IT Software และDigital content (เชื่อโยงอุตสาหกรรมการผลิตหัตถอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการออกแบบละสร้างสรรค์)
  3. อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และวัสดุด้านพลังงาน

แนวปฏิบัติ กลุ่มงานอุทยานวิทยาศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ http://iti.up.ac.th/th/main/readcontent/form/117